“ทาร์รากอน” ยอดเครื่องเทศฝรั่งเศส
ไม้ต้นนี้ เพิ่งพบมีต้นขาย มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ว่า “ทาร์รากอน” ซึ่งพืชชนิดนี้มีบทบาทมากในประเทศฝรั่งเศส จัดอยู่ในเครื่องเทศอย่างหนึ่งที่ใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง โดยก้านและใบสดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสเผ็ดร้อน นิยมนำไปคลุกปลา ไก่ เนื้อ และอื่นๆ นึ่งเพิ่มกลิ่นหอมรับประทานอร่อยมาก หรือนำไปใช้ทำน้ำสลัด ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
ในประเทศฝรั่งเศส จะให้ความสำคัญกับ “ทาร์รากอน” อย่างมาก ขนาดจัดให้เป็น 1 ใน 4 ของสุดยอด สมุนไพรที่ให้คุณค่าทางอาหารต่อร่างกายสูง โดยยกย่อง “ทาร์รากอน” ว่าเป็น “ราชาแห่งสมุนไพร” ซึ่งเครื่อง เทศทั้ง 4 อย่างที่กล่าวถึงได้แก่ “ทาร์รากอน” เป็นอันดับแรก ต่อด้วย พาร์สลีย์ ไชฟว์ และ เชอร์วิล ทั้ง 4 ชนิด จะมีกลิ่นหอมและความเผ็ดร้อนเฉพาะตัวคล้ายๆกับ ผักชี และ ยี่หร่า ในบ้านเรา
การ ใช้ประโยชน์จาก “ทาร์รากอน” ส่วนใหญ่นิยมเอา ก้านและใบสด ไม่นิยมใช้ก้านและใบแห้ง ดังนั้น การที่จะทำให้ก้านและใบของ “ทาร์รากอน” คงสภาพความสด มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อนเหมือนเดิม แม้จะเก็บไว้นานๆ ได้ด้วยวิธีแปรรูปคือ เอาก้านและใบสดของ “ทาร์รา-กอน” ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปดองกับน้ำส้มสายชู ในภาชนะที่เตรียมไว้ ปิดฝาให้แน่น เก็บไว้ในครัว เวลาต้องการจะใช้ก็เปิดฝาเอาเฉพาะน้ำส้มสายชูที่ดองก้านและใบสดของ “ทาร์รากอน” ไปปรุงเป็นน้ำสลัด จะยังคงคุณภาพความหอมและเผ็ดร้อนเหมือนกับใช้ก้านและใบสด “ทาร์รากอน” ทุกอย่าง
ทาร์รากอน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า TAR-RAGON, ARTEMISIA DRACUNCULUS มีถิ่นกำเนิดขึ้นอยู่ตามป่าบนเขาทั่วไปของประเทศฝรั่งเศส มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กกึ่งล้มลุกคล้ายๆกับต้น “โกฐจุฬาลำพา” ทางภาค เหนือของไทย ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน 2-2.5 ฟุต แตกกิ่งก้านแบบโปร่งๆ ไม่หนาแน่นเหมือนกับ “โกฐ-จุฬาลำพา” ของไทย
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปแถบแคบ หรือรูปเรียว ปลายแหลม โคนใบติดกับกิ่งก้าน ผิวใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด เวลาใบดกจะดูเป็นฝอยๆน่าชมยิ่ง ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสเผ็ดร้อนหรือรสขมเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์ได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในประเทศฝรั่งเศสยังนิยมนำเอาก้านและใบ “ทาร์รากอน” หมักทำซอสอีกด้วย ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น